เกียรติประวัติ ของ เบน เฟียริงคา

สมาคมเชิงวิชาการหลายแห่งทั้งในและนอกประเทศเนเธอร์แลนด์ได้รับเฟียริงคาเข้าเป็นสมาชิก โดยใน ค.ศ. 1998 เฟียริงคาได้รับเลือกให้เป็นภาคีสมาชิกของราชสมาคมเคมี (FRSC; Fellow of the Royal Society of Chemistry) สหราชอาณาจักร ต่อมาใน ค.ศ. 2004 เขาได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ชาวต่างชาติของสถาบันศิลปะและวิทยาศาสตร์อเมริกัน (American Academy of Arts and Sciences) หลังจากนั้นเขาได้รับเลือกเป็นสมาชิกของราชสมาคมศิลปะและวิทยาศาสตร์แห่งประเทศเนเธอร์แลนด์ (Royal Netherlands Academy of Arts and Sciences) ใน ค.ศ. 2006[14] และดำรงตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์วิชาการ (Academy Professor) ในสถาบันเดียวกันใน ค.ศ. 2008 นอกจากนี้ เฟียริงคายังได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของราชสมาคมเคมีแห่งประเทศเนเธอร์แลนด์ (Royal Netherlands Chemical Society)[15] ใน ค.ศ. 2016 และสมาชิกชาวต่างชาติของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติของสหรัฐในเดือนเมษายน ค.ศ. 2019[16]

นอกเหนือจากสมาชิกสมาคมวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ แล้ว เฟียริงคายังได้รับรางวัลอีกหลายรายการจากผลงานวิจัยของเขา[17][18][19][20][21][22] และร่วมเขียนบทความทบทวนวรรณกรรมในวารสารต่าง ๆ และเขียนบางบทในตำราวิชาการด้วย[23] เฟียริงคาได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีใน ค.ศ. 2016 ร่วมกับเซอร์ เจ. เฟรเซอร์ สตอดดาร์ตและฌ็อง-ปีแยร์ โซวาฌจากผลงานด้วยจักรกลโมเลกุล[1] ก่อนหน้านั้นเฟียริงคาก็ได้รับความคาดหมายว่าน่าจะได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมี ซีรีส์แอนิเมชันซิตคอม เดอะซิมป์สันส์ ตอนหนึ่งใน ค.ศ. 2010 มีฉากที่ตัวละครทายว่าใครจะได้รับรางวัลโนเบล และตัวละครหนึ่งเขียนทายว่าเฟียริงคาจะได้รับรางวัลในสาขาเคมี[24]

เฟียริงคาได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์สิงโตเนเธอร์แลนด์ชั้นเบญจมาภรณ์ (Knight) ใน ค.ศ. 2008 จากสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์แห่งเนเธอร์แลนด์[25] และชั้นตริตาภรณ์จากสมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์แห่งเนเธอร์แลนด์ในวันที่ 23 พฤศจิกายน ค.ศ. 2016[26] นอกจากนี้เขายังได้รับสถานะ "พลเมืองกิตติมศักดิ์" จากสภาเมืองโกรนิงเงิน[27] ถนนสายหนึ่งในบ้านเกิดของเขาได้รับชื่อว่า Prof. Dr. B. L. Feringadam[28]

แหล่งที่มา

WikiPedia: เบน เฟียริงคา http://www.loc.ethz.ch/news/lectures/Prelog/lektor... http://www.benferinga.com http://www.solvay.com/en/innovation/solvay-prize/2... http://webofknowledge.com http://www.bunsen.de/en/Start.html http://adsabs.harvard.edu/abs/1999Natur.401..152K http://adsabs.harvard.edu/abs/2011Natur.479..208K http://grands-prix-2012.institut-de-france.fr/fond... //www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/10490022 //www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/22071765